วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

E-commerce แดนมังกร ธุรกิจที่น่าจับตามอง

ยอดผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวจีนพุ่ง ดันธุรกิจ E-Commerce!!!

     
          จีนเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ เรื่องราวสถิติ eCommerce ในตลาดจีน จึงทวีความน่าสนใจตามไปด้วย โดยเฉพาะตัวเลขที่ระบุว่า eCommerce จีนจะมีเงินสะพัดมากกว่า 1.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้

    
     ข้อมูลจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในจีนพบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชาวจีนส่วนใหญ่เริ่มหันมาซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีการประเมินว่าจำนวนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์จะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 23% ในปี 2010 เป็น 44% ในปี 2015 และจะสามารถทำรายได้โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 7.4% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งหมดในปี 2015 อีกด้วย

    
      จากการสำรวจพบว่าธุรกิจ eCommerce ในจีนยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ (2016) มีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์จะทำสถิติเพิ่มสูงถึง 423.4 ล้านคนหรือคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 457,600 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตามคาด ผู้ซื้อส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์ สัญชาติจีนที่มีชื่อเสียง อย่าง Tmall.com ซึ่งแยกตัวมาจาก Taobao.com ก็ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับ 1 (39.9%) ตามมาด้วย 360Buy.com (14.7%) Suning.com (2.4%) Amazon.cn (2.2%) รวมไปถึง Dangdang.com (1.6%) และ Vancl.com (1.5%) โดยเว็บไซต์ค้าปลีกชื่อดังเหล่านี้สามารถครองส่วนแบ่งตลาด eCommerce ในจีน โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 65% เลยทีเดียว


   เหตุผลที่ชาวจีนส่วนใหญ่เริ่มหันมาซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น คือ ประหยัดเวลา (28%) ราคาถูก (25%) สะดวกสบาย (18%) ง่ายต่อการเปรียบเทียบราคา (7%) มีทางเลือกที่หลากหลาย (4%) รวมไปถึงจัดส่งสินค้าฟรี มีรายละเอียดสินค้าให้ศึกษาอย่างชัดเจนและง่ายต่อการค้นหาแบรนด์ที่ต้องการ (อย่างละ 1%)

   ในส่วน วิธีการชำระเงิน พบว่าผู้ซื้อสินค้าส่วนใหญ่นิยมจ่ายค่าสินค้าผ่านทาง Alipay ซึ่งเป็นระบบการจ่ายเงินของจีนที่มีลักษณะคล้ายกับ Paypal ในบ้านเรามากที่สุดเป็นอันดับ 1 (47%) รองลงมาเป็น Tenpay (21%) การโอนผ่านธนาคาร (11%) 99Bill / China PNR (อย่างละ 6%) Yeepay (4%) และอื่นๆ (5%)

     การซื้อสินค้าออนไลน์และการทำธุรกิจ eCommerce เป็นกระแสที่กำลังเติบโตและมีศักยภาพอยู่มาก สอดคล้องกับจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่จะกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของจีน โดยเฉพาะการใช้บริการด้านข้อมูลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ราคาโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตถูกลง บวกกับเครือข่าย 3G อย่างเต็มรูปแบบ ธนาคารต่าง ๆ ในจีนล้วนให้บริการการโอนเงินผ่านทางอินเตอร์เน็ต สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคต่อความปลอดภัยและความสะดวกรวดเร็วในการชำระเงิน โดยผู้บริโภคจะช็อป จ่าย ที่ไหนเมื่อไรก็ได้แค่ คลิ๊ก! 

      จากระบบอินเตอร์เน็ตและความเร็วที่จะได้รับการพัฒนาในอนาคตอันใกล้ ผนวกกับช่องทางการตลาดทั้งหลายที่ระดมเข้ามานั้นจะเป็นแรงผลักดันที่น่าสนใจซึ่งทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นไปอีก ซึ่งอีกไม่นาน ยอดผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนจะเพิ่มทะยานมากกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว สิ่งนี้ถือเป็น “โอกาสทอง” ของธุรกิจการขายสินค้าออนไลน์ จึงไม่แปลกที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกต่างจ้องเข้ามากินส่วนแบ่งของ “เค้ก” ชิ้นโตนี้ ซึ่งกำลังเตรียมจับจองพื้นที่ในตลาดอีคอมเมิร์ซในจีน ทั้งผ่านเว็บไซต์ซื้อของออนไลน์ รวมทั้งผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมในจีน ไม่ว่าจะเป็น Weibo QQ Wechat สิ่งเหล่านี้ย่อมดึงดูดให้ผู้บริโภคจีนสนใจและกระตุ้นการซื้อสินค้าได้เป็นอย่างดี การปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกออนไลน์ที่กำลังรุ่งพุ่งแรงอยู่ ณ ขณะนี้ เชื่อว่าจะเป็นข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจในจีนอย่างแน่นอน

     แนวโน้มการเติบโตของตลาด eCommerce ในจีนเป็นกระแสมาแรงและดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในอีกหลายปีเช่นนี้ รัฐบาลจีนต้องกำหนดแผนสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องมือในการช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศแล้ว ในอนาคตยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วย


ที่มา : http://thumbsup.in.th
          http://www.thaibizchina.com/

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

หนุ่มนักธุรกิจ แจ๊ค หม่า ก้าวสู่มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศจีน

ประวัติ แจ๊ค หม่า มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศจีน 8 แสนล้านบาท



หลายๆคนอาจจะได้ยินชื่อ แจ๊ค หม่า กันมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะว่าล่าสุดก้าวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศจีน หลังบริษัทอาลีบาบาเข้าตลาดหุ้นในนิวยอร์ค ซึ่งจากรายงานนายหม่ามีทรัพย์สิน รวมมูลค่าทั้งสิ้นราว 8 แสนล้านบาท ซึ่งมากขึ้นกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยบริษัทอาลีบาบาอาลีบาบา ตั้งขึ้นในปี 1999 ซึ่งเป็นรูปแบบบริษัทอีคอมเมิร์ชชื่อดังของจีน วันนี้ทาง เราจะขอนำเสนอประวัติของมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศจีน คนนี้ให้เพื่อนๆ รู้จักกันซะหน่อย



แจ๊ค หม่า เป็นคนเชื้อสายจีน เกิดที่เมืองหางโจว ในสมัยเด็กเขาสนใจที่จะศึกษาภาษาอังกฤษมากกว่าสิ่งใด ช่วงเริ่มต้นอาชีพเขาจึงเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและได้รับเงินเดือนเพียง 500 บาท แต่ก็ทำให้เขาเป็นคนจีนที่เก่งภาษาอังกฤษอย่างหาตัวจับยากทีเดียวในประเทศจีนยุคนั้น



วิสัยทัศน์ของแจ็ค หม่า
เริ่มต้นจากการที่เขาไปเยี่ยมเพื่อนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและเขาลองให้เพื่อนค้นหาสินค้าเป็นภาษาจีน ปรากฎว่าไม่พบผลการค้นหานั้น ทำให้เขาได้ค้นพบช่องว่างทางธุรกิจที่มหาศาล 

ในปี 1995 เขาก่อตั้ง บริษัทไชน่าเยลโล่เพจเจส ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นบริษัทอินเตอร์เน็ตแรกสุดในประเทศจีน หลังจากนั้นปี 1999 เขาได้ก่อตั้งบริษัท Alibaba ด้วยวิสัยทัศน์ด้านอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ยังมีบริษัทย่อยเด่นๆอีกเช่น Tmall, Aliexpress, Aplipay, Juhuasuan, 1688.com, eTao, Alibaba Cloud Computing




และในปี 2012 ได้มีธุรกรรมซื้อขายผ่าน Alibaba รวมทั้งสิ้น 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 5 ล้านล้านบาท) โดยแจ็ค หม่านำบริษัท Alibaba เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กและทำสถิติ IPO ที่ระดมเงินได้สูงสุดในประวัติการณ์ของตลาดหุ้นสหรัฐ ในวันแรกที่ซื้อขายมูลค่าบริษัท Alibaba พุ่งสูงถึงกว่า 200 พันล้านเหรียญ(6 ล้านล้านบาท) แซงหน้ายักษ์ใหญ่อย่าง Amazon และ eBay ส่งผลให้เขากลายเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งคนใหม่ของประเทศจีนในทันที



สมัยที่ Jack Ma เริ่มทำ Alibaba ใหม่ๆ เขาต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น คนจีนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่บัตรเครดิต ระบบลอจิสติกส์ห่วย คนจีนเองยังไม่เชื่อถือกันเลย ไม่เคารพกฎหมาย ฯลฯ













ย้อนกลับไปในปี 1999 ช่วงที่ Alibaba ยังล้มลุกคลุกคลาน...
Jack ประชุมพนักงานรุ่นแรกจำนวน 17 คนที่บ้านของเขาเอง (Alibaba มีผู้ก่อตั้งทั้งหมด 18 คนนี้) และพูดถึงวิสัยทัศน์ของเขากับ Alibaba ว่าต้องทำอะไรบ้าง  Jack Ma บอกเพื่อนร่วมอุดมการณ์ว่าไม่ต้องห่วงปัญหาข้างต้น  " ขอให้พนักงานทุกคนอดทนประมาณ 3-5 ปี ขอให้ทำงานหนักแบบเดียวกับคู่แข่งในซิลิคอนวัลเลย์ เลิกคิดถึงการทำงานแบบ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นซะ ขอให้คิดว่าเราจะเป็นบริษัทระดับโลกตั้งแต่วันแรก " และเขาคิดว่าบริษัทน่าจะพ้นช่วงยากลำบากไปได้ และ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2002

จากนั้นเส้นทางของ Alibaba ก็เริ่มต้นขึ้น โดยเว็บไซต์ Alibaba.com เป็นเว็บขายของแบบ B2B สำหรับผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้าในจีน ช่วงแรกบริษัทโปรโมทตัวเองว่าเป็นเว็บไซต์ online trade show เพื่อให้ผู้นำเข้าส่งออกมองว่าเป็นพื้นที่ขายของที่เพิ่มเข้ามา ไม่ใช่คู่แข่งที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด



ต่อมาบริษัทขยายตัวมาทำค้าปลีก โดยเปิดเว็บที่สอง Taobao.com อิงตามโมเดลของร้านค้าปลีก ร้านโชว์ห่วยของจีน ซึ่งแตกต่างจากโมเดลของ eBay ในช่วงแรกคือการนำของเก่าหรือของสะสมมาขายมือสอง ซึ่งโลกตะวันตกมีระบบทุนนิยมมานาน คนมีของเก่าสะสมไว้เยอะ แต่จีนเพิ่งออกมาสู่ระบบทุนนิยม แต่ละบ้านแทบไม่มีของอะไรที่นำมาขายได้เลย จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นการผลักร้านค้าปลีกเล็กๆ ขึ้นมาอยู่บนอินเทอร์เน็ตแทน




แน่นอนว่า Taobao ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ eBay ซึ่ง Jack Ma ก็กล่าววาทะที่มีชื่อเสียงเอาไว้ว่า eBay เปรียบเสมือนฉลามในมหาสมุทร ส่วน Alibaba เป็นแค่จระเข้ในแม่น้ำแยงซีเกียง (Crocodile in the Yangtze River) ถ้าเราต่อสู้กันในทะเล เราแพ้แน่ แต่ถ้าสมรภูมิคือแม่น้ำ เราจะเป็นผู้ชนะ "


การออกแบบเว็บ Taobao ซึ่งเขาก็ค้นหาคำตอบว่าควรทำอย่างไร ตำราการออกแบบเว็บในโลกตะวันตกมักชูเรื่องความสะอาด เรียบง่าย ไม่รก ซึ่งขัดกับอุปนิสัยของคนจีนที่ชอบเยอะๆ เห็นสินค้าครบถ้วนในหน้าจอเดียว

แต่จุดเด่นของ Taobao จริงๆ คือปุ่ม "แชตกับคนขาย" ช่วยให้ลูกค้าสามารถคุยกับคนขายได้จริงๆ ก่อนสั่งสินค้า เพราะอุปนิสัยของคนเอเชียที่เน้นสายสัมพันธ์ระหว่างคน ซึ่งต่างจากโมเดลฝรั่งที่เน้นระบบอัตโนมัติ ไม่ต้องคุยกับคน และ eBay ไม่อยากให้ลูกค้ากับคนขายคุยกันเองเพราะกลัวเสียสถานะตัวกลาง  

นิยามของ Taobao จึงไม่ใช่อีคอมเมิร์ซแบบดั้งเดิม แต่เป็น social commerce ที่เป็นชุมชนระหว่างคนซื้อกับคนขายด้วย ลูกค้าหลายคนกลายเป็นเพื่อนกับคนขาย และมีหลายคู่ที่ได้แต่งงานกันเพราะ Taobao ถ้าบอกว่าอยู่ในอเมริกาแล้วบอกว่าเจอกับแฟนผ่าน Amazon คงเป็นไปไม่ได้

ปัจจัยเรื่อง social เป็นจิ๊กซอชิ้นแรกที่ทำให้คนใช้ Taobao กันมาก ต่อมาบริษัทก็แก้ปัญหาเรื่องความไม่เชื่อใจกันระหว่างคนซื้อกับคนขาย ว่าจะเชิดเงินหรือไม่ ด้วยระบบจ่ายเงิน Alipay ที่ต่างไปจากระบบของ PayPal ตรงที่ Alipay ทำตัวเป็นคนกลางถือเงิน (escrow)

ระบบของ Alipay ผู้ซื้อจะจ่ายเงินไปให้ตัวกลาง Alipay ก่อน จากนั้น Alipay จะแจ้งผู้ขายว่าได้รับเงินจากผู้ซื้อแล้ว แต่ยังไม่จ่ายเงินให้ผู้ขาย ฝั่งของผู้ขายจะต้องส่งสินค้าให้ถึงมือผู้ซื้อก่อน เมื่อเสร็จกระบวนการแล้ว Alipay ค่อยโอนเงินส่วนนี้ให้

Alibaba ไม่ได้ลงมาทำระบบลอจิสติกส์เอง เพราะมีแนวคิดว่าปล่อยให้คนขายจัดการเองมีประสิทธิภาพมากกว่า (หลายครั้ง ผู้ขายใช้วิธีส่งของด้วยการขี่จักรยานไปส่งแทนการใช้ระบบลอจิสติกส์) แต่ช่วงหลังพอตลาดโตขึ้นมาก ระบบลอจิสติกส์เอกชนเริ่มรองรับไม่ไหว ทำให้ Alibaba ต้องเข้ามาลงทุนบ้าง แต่ก็ยังไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท เน้นลงทุนเพื่อให้พาร์ทเนอร์โตทันความต้องการมากกว่า

ปัจจัยหลักที่ช่วยผลักดัน Taobao คือ Alibaba ตัดสินใจไม่คิดค่าธรรมเนียมผู้ขายเป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้คนกล้าเข้ามาใช้ระบบแล้วบอกต่อ เพราะคนจีนจะไม่กล้าจ่ายเงินถ้าหากไม่ได้ลองขายก่อน ตรงนี้ฝั่ง eBay ไม่สนใจและบอกว่าไม่มีคำว่า "ฟรี" อยู่ในหัวเลย

นอกจากนี้ Taobao ยังมี ระบบแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย (dispute management) ด้วยระบบลูกขุน (jury) ภายในเว็บ ที่ให้แต่ละฝ่ายเสนอตัวแทนลูกขุนเข้ามาพิจารณาข้อขัดแย้ง เป็นโมเดลที่ดูแลกันเองภายในชุมชน และช่วยแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งไปได้มาก

ถัดจาก Taobao ที่เป็นโมเดลร้านโชว์ห่วย ก็เป็นคิวของ Tmall.com เป็นเหมือน "ห้างสรรพสินค้าออนไลน์" แบรนด์มาขายเอง เน้นสินค้าหรูหรามีราคามากขึ้น

ในสหรัฐมีห้างสรรพสินค้ามากมาย การมาขายสินค้าออนไลน์ถือเป็นเพียงช่องทางหนึ่งเท่านั้น และเว็บอีคอมเมิร์ซเองก็พยายามเอาชนะห้างสรรพสินค้าด้วย เป็นคู่แข่งกันโดยตรง แถมเว็บอีคอมเมิร์ซเองพยายามลดความสำคัญของแบรนด์สินค้าลง เน้นไปที่ตัวสินค้าเป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากเพจของแบรนด์บน Amazon ที่มีโลโก้แบรนด์น้อยมาก ปรับแต่งอะไรแทบไม่ได้เลย

แต่กรณีของ Tmall นั้นกลับกัน เพราะจีนไม่มีระบบห้างสรรพสินค้าที่ดีพอ บริษัทจึงมองว่าต้องทำ Tmall ให้เป็นห้างสำหรับแบรนด์มาขายของ เลยเปิดพื้นที่ให้จัดเต็มเรื่องโฆษณาอย่างเต็มที่


ผลกลายเป็นว่ามีแบรนด์สินค้าจำนวนมากไม่มีหน้าร้านจริงๆ และเปิดร้านบน Tmall เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างในภาพคือแบรนด์เสื้อผ้า HSTYLE จากเกาหลีใต้ เน้นใช้ดาราช่วยโปรโมท (ทั้งดาราเกาหลีและจีน) โดยไม่ต้องมีหน้าร้านเลย ขายออนไลน์ล้วนๆ   ปัจจุบันจึงมีอาชีพ Taobao models คือสาวสวยหนุ่มหล่อ รับจ้างเป็นนางแบบนายแบบบน Taobao เพียงอย่างเดียว (คล้ายกับร้านเสื้อผ้าบน Facebook/Instagram ในบ้านเรา)



มีผู้ฟังถามว่าการขายเสื้อผ้าออนไลน์ มักติดปัญหาเรื่องสินค้าต้องลองสวมก่อน กรณีแบบนี้ Alibaba แก้ปัญหาอย่างไร คำตอบคือต้องเริ่มจากนโยบายรับประกันการคืนสินค้าก่อน ภายใน 7 วันถ้าผู้ซื้อต้องการคืนสินค้า ผู้ขายไม่มีสิทธิถามใดๆ ต้องรับคืนเสมอ



       ในภาพรวมแล้ว โมเดลของ Alibaba คือการสร้าง ecosystem ของการค้าขนาดใหญ่ มีเว็บไซต์หลากหลายรองรับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม และมีระบบจ่ายเงิน Alipay เป็นตัวกลางให้ธุรกรรมราบรื่น


ในประเทศจีนมีธรรมเนียมที่เรียกว่า 
"วันคนโสด" (Singles' Day) 
เป็นด้านกลับของวันวาเลนไทน์ ซึ่ง Alibaba ใช้โอกาสนี้เปลี่ยนวันคนโสด มาเป็นวันช็อปปิ้งแก้เครียดเรื่องโสด ผลคือวันคนโสดปี 2014 บริษัททำยอดขายได้ถึง 9.3 พันล้านดอลลาร์ภายในวันเดียว



           สาเหตุที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ ก็ด้วยตลาดผู้บริโภคจีนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั่นเอง ทำให้หลายบริษัทจากต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจต้องปรับตัวกันใหญ่ จนถึงถอนตัวกลับบ้านเลยก็มี โอกาสจึงเป็นของ แจ็ค หม่า เข้ากับทำนองที่ว่า “คนจีนเข้าใจคนจีน” มากกว่า


บทสรุปของตำนาน Alibaba คือการปรับโมเดลคอมเมิร์ซให้เหมาะกับความต้องการของท้องถิ่น ซึ่ง Jack Ma เปรียบเทียบว่าในโลกตะวันตก อีคอมเมิร์ซเป็นแค่ของหวาน (dessert) เพราะระบบการค้าทั่วไปดีอยู่แล้ว แต่ในจีนที่ไม่มีอะไรเลย อีคอมเมิร์ซสำคัญระดับอาหารจานหลัก (main course)     ปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซในจีนเฟื่องฟูมาก ผู้เล่นรายใหญ่คือ Alibaba, JD.com, Tencent และมีรายเล็กจับตลาดเฉพาะทางอีกมาก

สรุปปิดท้ายว่า ในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆแห่งจะมีรูปแบบอีคอมเมิร์ซคล้ายคลึงกัน นั่นคือทำหน้าที่แทนระบบค้าปลีกที่ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ตัวอย่างประเทศในแอฟริกาเคยมอง Amazon เป็นโมเดล แต่ทำไปสักพักก็พบว่าทำแบบ Alibaba เหมาะสมกว่า

เรื่องสภาพตลาดของแต่ละประเทศมีความสำคัญมาก เป็นเหตุที่ทำให้ Amazon/eBay ไม่เวิร์คในจีน และ Alibaba ไม่เหมาะสำหรับอเมริกาเช่นกัน ตรงนี้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการในแต่ละประเทศต้องค้นหาคำตอบที่เหมาะสม อย่างในอินเดียก็มี Flipkart และ Snapdeal ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มี Lazada และ Tokopedia


ข้อจำกัดของตลาดคอมเมิร์ซเมืองไทย คือระบบจ่ายเงินที่ยังอิงกับเงินสดหรือการโอนเงิน ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ เมืองจีนเคยเผชิญปัญหานี้และสามารถแก้ได้ด้วย Alipay ดังนั้นถ้ามีคนไทยทำระบบที่ทัดเทียม Alipay ขึ้นมาได้ ในท้ายที่สุด การจ่ายเงินสดเมื่อได้รับสินค้า (cash on delivery) จะหายไปภายใน 5 ปี









วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รู้จักกับ อลีบาบา Alibaba.com

รู้จักกับ Alibaba.com ขุมทรัพย์พันล้านที่รอการค้นพบ



Alibaba.com เป็นเว็บไซต์สัญชาติจีน ก่อตั้งโดย แจ็คหม่า หรือ หม่าหยุน ซึ่งอาลีบาบามีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับอย่างมากสำหรับโรงงานในประเทศจีนที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยอาลีบาบา เป็นตัวละครในนิทานอาหรับซึ่งแจ็คหม่า ให้เหตุผลในการตั้งชื่อนี้ว่า เป็นชื่อที่เรียกง่ายและจดจำได้ง่ายนั่นเอง


          ปัจจุบัน Alibaba.com ถือเป็นเว็บไซต์ B2B (Business to Business) เว็บไซต์ขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยอาลีบาบาเน้นให้บริการบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยส่งเสริมการทำ E-commerce อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งอาลีบาบาได้เข้าตลาดหุ้นฮ่องกงในปี 1997 และประกาศตัวเป็นเว็บไซต์ขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก


           อาลีบาบา ก่อตั้งปี 1999 ในเมืองหางโจว ประเทศจีน โดยแบ่งแยกเป็น Alibaba.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยให้บริการเป็นภาษาอังกฤษ และ 1688.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายส่งที่ใช้ภายในในประเทศจีนโดยเฉพาะ ภาษาหลักในเว็บไซต์จะเป็นภาษาจีน รวมถึงเว็บไซต์ Aliexpress.com ซึ่งเป็นเว็บขายปลีกที่มีความปลอดภัยในการซื้อขายสูงโดยเน้นการซื้อปลีกในราคาส่ง ผู้ซื้อสามารถมั่นใจในระบบการชำระเงินได้ เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง โดย Aliexpress ใช้ระบบ Escrow ในการการันตีความปลอดภัยในการชำระเงิน ซึ่งมีตัวกลางในการควบคุมดูแลทุกการชำระเงินอย่างใกล้ชิด โดยปัจจุบัน 3 เว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้สมัครเป็นสมาชิกและใช้เว็บไซต์เหล่านี้ในการทำธุรกิจมากกว่า 72.8 ล้านรหัสจากสมาชิกกว่า 240 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน


            จุดประสงค์หลักของ Alibaba.com คือการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้มีศักยภาพในการทำตลาดผ่าน Alibaba.com โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจตนเอง โดยอาลีบาบายังให้บริการด้านอินเตอร์เน็ต ซอฟแวร์ต่าง ๆ รวมถึงบริการด้านการส่งออก ซึ่งปัจจุบัน อาลีบาบาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ใน 70 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น



บริษัทในเครือ Alibaba.com มีดังนี้



Taobao.comเว็บไซต์ขายปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน เปิดตัวในปี 2003 และสามารถแย่งตลาดจากเว็บไซต์ประมูลอันดับ 1 ของโลกอย่าง ebay.com ได้ภายใน 3 ปี โดยแจ็คหม่าผู้ก่อตั้ง Taobao.com ต้องการให้ถาวเป่าเป็นเว็บไซต์ซื้อขายสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในประเทศจีนได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยใช้การตลาดแบบเข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภคชาวจีนได้มากกว่าเว็บไซต์ระดับโลกอย่าง ebay.com





โดยถาวเป่าเน้นให้บริการฟรีในทุกฟังค์ชั่นเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน โดยเน้นการสร้างกำไรด้วยการเก็บค่าโฆษณาจากบรรดาบริษัทใหญ่โตทั้งหลายที่ต้องการประชาสัมพันธ์สินค้าของตน แนวทางดังกล่าวได้ใจชาวจีนซึ่งชื่นชอบของฟรีไปเต็ม ๆ


          
       เนื่องจาก Taobao.com ไม่เก็บค่าบริการใด ๆ จากสมาชิก ทำให้สมาชิกสามารถขายสินค้าได้ในราคาถูก ซึ่งผู้บริโภคก็จะรู้สึกพึงพอใจและอยากกลับมาอุดหนุนอีกครั้งในอนาคต โดยส่วนตัวขอชื่นชมแนวคิดของแจ็คหม่าที่เข้าใจวัฒนธรรมของชาวจีนเป็นอย่างดี

          โดยปัจจุบัน Taobao.com คือเจ้าตลาดในประเทศจีน ที่มีมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 70% ในตลาด และมีสินค้าในเว็บไซต์มากถึง 800 ล้านชิ้น รวมถึงมีผู้สมัครสมาชิกถึง 370 ล้านคน โดยปัจจุบันถาวเป่าคือหนึ่งใน 20 เว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมสูงที่สุดในโลก ต้องขอยอมรับว่า แจ็คหม่า นายเยี่ยมมาก !!


***********************************************

Tmall.comแหล่งรวมแบรนด์ดังอันดับต้น ๆในประเทศจีน เปิดตัวเดือนเมษายน 2008 โดย tmall.com ถือเป็นแหล่งรวมแบรนด์ขายปลีกของจีน ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 50% จากการสำรวจล่าสุดของ iResearch โดยนโยบายหลักของ tmall.com มุ่งเน้นไปที่การกระจายสินค้าแบรนด์เนมให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค


          ซึ่งสินค้าใน tmall.com จะไม่มีสินค้าเลียบแบบลิขสิทธิ์หรือสินค้าย้อมแมวปะปนอยู่ โดยปัจจุบัน Tmall.com ได้แยกตัวออกมาเป็นหนึ่งในหน่วยธุรกิจหลักของอาลีบาบาอย่างเป็นทางการ ปัจจุบัน tmall.com มีร้านค้าชื่อดังเข้าร่วมมากกว่า 70,000 ร้านค้าซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทต่างชาติและในประเทศจีน


         สินค้าใน tmall.com จะมีความหลากหลายสูง มีทั้งสินค้าประเภทงานบริการ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ของจุกจิก ของขวัญ ของชำร่วย เสื้อผ้าแฟชั่น สินค้าแบรนด์เนมต่าง ๆ ซึ่งถูกคัดเลือกมาจากบริษัทกว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศจีน โดย Tmall.com มีอิทธิพลมหาศาลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค เนื่องจาก การซื้อขายสินค้าใน tmall.com เป็นไปอย่างง่ายดายและรวดเร็ว รวมถึงมีระบบการซื้อขายที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและผู้ขาย ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว


หากถามว่าสินค้าใน Tmall.com ต่างจากสินค้าใน taobao.com อย่างไร ???

คำตอบคือสินค้าใน tmall.com มีคุณภาพสูงกว่า มาตราฐานดีกว่า บริการดีกว่า และน่าเชื่อถือมากกว่าผู้ขายใน taobao.com อย่างไรก็ตามสินค้าใน tmall.com จะราคาแพงกว่า taobao.com และในช่วงหลังแบรนด์เนมระดับโลกต่าง ๆให้ความสนใจกับ tmall.com เป็นอย่างสูง
          
แบรนด์ดังอย่าง UNIQLO, L’Oréal, adidas, P&G, Benefit, Unilever, Gap, Ray-Ban and Levi's. สามารถสร้างประวัติศาตร์ปิดยอดการขายสินค้าใน 1 วันด้วยยอดขายสูงถึง 15,000 ล้านบาทหรือประมาณวินาทีละ 200,000 บาทเลยทีเดียว


***********************************************


Etao.comSearch Engine สำหรับการค้นหาสินค้าในประเทศจีน เปิดให้บริการเดือนตุลาคม 2010 โดยมีเป้าหมายหลักในการให้บริการค้นหาสินค้าและช่วยเหลือให้ผู้ซื้อในการตัดสินใจซื้อสินค้า หาสินค้าราคาต่ำแต่ให้ได้คุณภาพสูงสุดอย่างรวดเร็วในอินเตอร์เน็ต โดยลูกเล่นและฟังค์ชั่นหลักของ etao.com มีดังนี้

  • บริการค้นหาสินค้า
  • บริการค้นหาการซื้อสินค้าแบบรวมกลุ่มซื้อเพื่อให้ได้โปรโมชั่นพิเศษ(Group Buy)
  • บริการค้นหาตั๋วหนังจากโรงภาพยนตร์
  • บริการค้นหาส่วนลด โปรโมชั่นต่าง ๆ
  • บริการค้นหาข้อมูลจาก Taobao Community

ปัจจุบัน สินค้าทั้งหมดมีมากกว่า 1,000 ล้านชิ้น และสามารถค้นหาสินค้าที่มีอยู่ใน Taobao Marketplace, Taobao Mall, Amazon China, Gome, Yihaodian, Nike China and Vancl. โดยผู้ใช้สามารถค้นหาสินค้าได้เพียงเสี้ยววินาทีเพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติรวมของสินค้าก่อนทำการตัดสินใจซื้อสินค้าค่ะ


***********************************************

Aliyun.com – Alibaba Cloud Computing เปิดให้บริการเมื่อปี 2009 โดยมีจุดประสงค์หลักในการให้บริการคราวด์คอมพิวติ้งสำหรับเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร แชร์ข้อมูล จัดระเบียบข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงช่วยในการประหยัดการลงทุนในด้านทรัพยากรคอมพิวเตอร์ โดย Aliyun.com กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาระบบก้อนเมฆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กรอย่างยั่งยืน





***********************************************


Alipay.com – หนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของ ถาวเป่า เนื่องจากในขณะที่อีเบย์มี Paypal เป็นอาวุธสำคัญในการการันตีความปลอดภัยในการชำระเงิน แจ็คหม่า เลือกใช้ Alipay.com มาต่อกรกับ Paypal โดยเลือกใช้กลยุทธ์สำคัญอย่างการไม่เก็บค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้นจาก Alipay.com ซึ่งได้ใจคนจีนไปเต็ม ๆ ทำให้เว็บไซต์อย่าง Alipay.com กลายเป็นช่องทางการชำระเงินทางอินเตอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศจีน และด้วยความง่ายในการใช้งาน โดยสามารถชำระเงินผ่านธนาคารได้เกือบทุกธนาคารในประเทศจีน


Alipay.com ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 และถือเป็นระบบชำระเงินผ่านบุคคลที่ 3 ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีผู้สมัครใช้บริการมากกว่า 650 ล้านคนทั่วประเทศ ในวันที่ 11 กันยายน 2011 มีการซื้อขายผ่านระบบ Alipay.com สูงสุดเป็นประวัติศาตร์ด้วยจำนวนกว่า 170 ล้านบาทในระยะเวลาเพียง 24 ชม.

ปัจจุบัน Alipay.com มีพาร์ทเนอร์เป็นสถาบันการเงินมากถึง 100 แห่ง โดยให้บริการผู้ขายมากถึง 460,000 ราย ครอบคลุมการซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ การพนันออนไลน์ทุกชนิด เกมส์ออนไลน์ ตั๋วเครื่องบิน ค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น ขณะนี้ Alipay.com รับชำระเงินผ่านสกุลเงินทั้งสิ้น 12 สกุลเงินด้วยกัน



ที่มา FB: Thebizstory
***********************************************


เพิ่มเติม



วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

Alipay กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์



Alipay แอปพลิเคชั่นเดียว 22 ฟังก์ชั่น
ตอบทุกความต้องการเรื่องเงิน




เศรษฐกิจในยุคดิจิตอลจีนปัจจุบันเติบโตและก้าวหน้าไปไกล มีช่องทางการทำธุรกิจที่เกิดขึ้นพร้อมกับความทันสมัย ไฮเทค มากมายมากมายหลายช่องทาง และคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของเว็บไซด์ขายสินค้ายักษ์ใหญ่อย่างถาวเป่า ( 淘宝) และ Tmall ( 天猫) เพราะนอกจากจะมีทุกสิ่งให้เลือกสรรค์ในราคาที่สามารถเลือกได้แล้ว ยังมีระบบการจ่ายเงินที่สะดวกและปลอดภัย ลดความกังวลใจเรื่องปัญหาการฉ้อโกง เพิ่มความมั่นใจให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ด้วยระบบ จือฟู่เป่า ( 支付宝) หรือ Alipay นวัตกรรมการทำธุรกรรมที่บริษัท อาลีบาบา คิดค้นขึ้นมาอำนวยความสะดวกของผู้บริโภคออนไลน์

“จือฟู่เป่า” ในภาษาจีน หรือ Alipay Wallet คือระบบที่พัฒนาขึ้นในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันซึ่งต้องการความสะดวก รวดเร็ว  โดยนำวิวัฒนาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกดิจิตอล ปรับเปลี่ยนความยุ่งยากที่เคยมีให้ง่ายขึ้น ผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน กล่าวคือ Alipay ที่กำลังเป็นที่นิยมในประเทศจีนทำหน้าที่เสมือนกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ ( e-wallet ) ที่สามารถโอนย้ายถ่ายเงินในกระเป๋าเข้าออกระหว่างกันได้อย่างเสรีและรวดเร็ว โดยผู้ใช้งานเพียงแค่นำบัตร Debit หรือ Credit Card มาผูกเข้ากับบัญชี Alipay ก็สามารถใช้งานกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ได้สบาย ทว่าไม่เพียงแค่โอนเงินเข้า หรือแค่จ่ายเงินออก แต่ Alipay ยังมีฟังก์ชั่นการใช้งานมากมายกว่าที่ท่านคิด




App เดียวตอบทุกความต้องการ ด้วย 22 ฟังก์ชั่นของ Alipay




(ในหน้าต่างของ Alipay ที่รวบรวมหลายฟังก์ชั่นเข้าไว้ด้วยกัน)


1) ฟังก์ชั่น 扫一扫สแกนสักหน่อย 
คือ ฟังก์ชั่นที่ให้เราสแกนเพื่อเข้าถึงลิงค์ต่าง ๆ ตามแต่กิจกรรมที่เราต้องการจะเข้าร่วม เหมือนเป็นการLogin เข้าระบบเชื่อมต่อกับกิจกรรมที่เราต้องการ

2) ฟังก์ชั่น 付款码บาร์โค้ดเพื่อจ่ายเงิน สมาร์ทโฟนแต่ละเครื่องจะมีรหัสประจำเครื่องที่ต่างกัน และเพื่อความปลอดภัยระบบจะมีการเปลี่ยนรหัสบาร์โค้ดประจำเครื่องทุก 5 นาที โดยฟังก์ชั่นนี้เราสามารถแสดงบาร์โค้ดชำระเงินของเราให้กับร้านสะดวกซื้อ เมื่อเคาท์เตอร์ทำการสแกน บนโทรศัพท์ของเราจะโชว์จำนวนเงินและทำการชำระเงินจาก Alipay ของเราไปเข้าระบบบัญชีของทางร้านได้อย่างรวดเร็วไร้กังวล ซึ่งร้านสะดวกซื้อที่สามารถใช้บริการนี้ได้ อาทิ แฟมิลี่มาร์ท (全家) เซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) เค่อตี๋ (可的) เหลียนฮวา (联华)


3) ฟังก์ชั่น 余额宝เงินเหลือเก็บออม เหมาะสำหรับนักออมเงินทั้งหลาย ฟังก์ชั่นนี้ต่อการนำเงินที่เหลือในบัญชีของเราไปฝากในสถาบันการเงินที่มี Alipay เป็นคนกลาง และให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารทั่วไป เรียกได้ว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม แต่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติใช้บริการ


4) ฟังก์ชั่น 手机充值เติมเงินโทรศัพท์ คือ ฟังก์ชั่นให้เราเติมเงินโทรศัพท์โดยมีสิทธิ์พิเศษ หรือส่วนลด เช่น เติมเงิน 100 หยวน จากเดิมที่ต้องจ่าย 100 หยวนเต็มก็อาจจะได้ลดราคาเหลือแค่ 99.98 หยวน เป็นต้น


5) ฟังก์ชั่น 信用卡还款ชำระบัตรเครดิต โดย Alipay จะทำการจ่ายเงินผ่านบัตร Debit ที่เราเลือกเอาไว้ ขอเพียงแค่มีสมาร์ทโฟน และ Alipay ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็หมดกังวลเรื่องการชำระบัตรเครดิตเกินกำหนด


6) ฟังก์ชั่น 淘宝电影เถาเป่าดูหนัง เป็นฟังก์ชั่นสำหรับคอหนังโรงโดยเฉพาะ เพราะนอกจากจะมีโปรแกรมหนังน่าสนใจมานำเสนอ ยังมีระบบค้นหาโรงหนังที่ใกล้กับเราที่สุดและแจ้งโปรแกรมหนังและเวลาให้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังรองรับการจองและจ่ายเงินค่าตั๋วผ่านระบบ Alipayพร้อมส่วนลดอีกมากมาย


7) ฟังก์ชั่น 面对付 จ่ายเงินต่อหน้า เป็นการจ่ายเงินผ่านระบบเสียง ระหว่างบัญชี Alipay หนึ่งไปยังอีก Alipay หนึ่ง โดยการสแกนระบบเสียงที่ส่งผ่านออกมาจากเครื่องผู้จ่ายเงินถึงเครื่องผู้รับ


8) ฟังก์ชั่น 亲蜜付แชร์กระเป๋าเงินให้คนรัก คือ ฟังก์ชั่นจ่ายเงินให้กันและกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องยินยอมและพร้อมใจกันกำหนดวงเงินการให้คนรักในวงเงินเท่ากัน กล่าวคือบัญชี Alipay สองบัญชีจะเชื่อมต่อกันและสามารถใช้เงินของกันและกันได้อย่างเสรี ภายใต้วงเงินที่กำหนดเอาไว้


9) ฟังก์ชั่น 股票行情 เชคสถานการณ์หุ้น ฟังก์ชั่นนี้จะเกาะติดความเปลี่ยนแปลงขึ้นลงกระดานหุ้นแบบ Real-time ได้เพื่อให้นักธุรกิจทั้งหลายได้จับตาสถานการณ์หุ้นแบบไม่หลุดกระแส แต่ยังไม่ได้เปิดบริการให้ซื้อหุ้น


10) ฟังก์ชั่น 机票ตั๋วเครื่องบิน เป็นช่องทางอำนวยความสะดวกในการซื้อตั๋วเครื่องบินแบบง่าย ๆ ให้นักเดินทางอีกทางหนึ่ง



11) ฟังก์ชั่น 水电煤ชำระค่าใช้จ่ายภายในบ้าน คือ ฟังก์ชั่นจ่ายเงินค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส โดยเราสามารถผูกที่อยู่และใบเสร็จไว้กับระบบ ซึ่งเมื่อมีการจ่ายผ่านระบบครั้งหนึ่งก็จะมีการบันทึกข้อมูลเอาไว้ โดยเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายในเดือนต่อไประบบจะส่งข้อความแจ้งแล้วสามารถกดจ่ายได้ทันที่ต้องการ

12) ฟังก์ชั่น AA收款 แชร์กันนะ เชื่อว่าทุกคนคงมีประสบการณ์การแชร์ค่าใช่จ่ายต่าง ๆ กับกลุ่มเพื่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่ารถ ค่าของขวัญ และคงต้องเคยปวดหัวกับการที่ต้องนั่งคิดบวกลบคูณหาร และตามทวงเก็บเงินที่วุ่นวาย โดยฟังก์ชั่นนี้ช่วยให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย โดยระบบจะช่วยคิดและแยกจำนวนเงินเป็นส่วน ๆ ต่างคนต่างจ่ายได้ทันที


13) ฟังก์ชั่น 淘点点คูปองค์ลดราคา เหมาะสำหรับนักช้อปมือไว เพราะระบบจะประมวลหาข้อมูลร้านอาหารและเครื่องดื่มพร้อมแจกคูปองส่วนลดออกมาเป็นระยะ ทว่า คงต้องมือไวกดแย่งให้ทันเวลาก่อนที่คนอื่นจะคว้าเอาไป


14) ฟังก์ชั่น 境外游บัตรจ่ายสินค้าบริการพร้อมเป็นคู่มือคืนภาษีในต่างแดน เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวยุคดิจิตอลในการซื้อบัตรโดยสาร เช่น รถไฟฟ้า รถประจำทาง ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมหลายประเทศ อาทิ เกาหลี สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นคู่มือสำหรับนักช้อปในการขอคืนภาษีได้ด้วยการเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการขอคืนภาษีของแต่ละประเทศอีกด้วย สำหรับนักท่องเที่ยวที่ใช้ฟังก์ชั่นนี้ ในประเทศไทยสามารถใช้บริการผ่านการซื้อบัตร Rabbit ในการจับจ่ายในร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ชั้นนำทั่วไป


15) ฟังก์ชั่น 旅游优惠สิทธิพิเศษท่องเที่ยว ให้คุณซื้อตั๋วเครื่องบิน รถไฟ แพ็คเกจท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ โรงแรม บัตรเข้าสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงจ่ายค่าบริการทำวีซ่าของหลายประเทศ


16) ฟังก์ชั่น 收款 ทวงเงิน ระบบจะส่งข้อความผ่านระบบ Alipay ไปยังลูกหนี้ โดยเราไม่ต้องไปทวงเองให้เสียแรงและเสียเวลา


17) ฟังก์ชั่น 爱心捐赠 ธารน้ำใจ เป็นฟังก์ชั่นทำบุญเพิ่มความสะดวกให้กับนักบุญที่ไม่ค่อยมีเวลา โดยเป็นการทำงานร่วมกับโครงการการกุศลต่าง ๆ หรือ บุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเราสามารถเลือกบริจาคและช่วยเหลือสนับสนุนเงินตามความพอใจ


18) ฟังก์ชั่น 话费卡转让 เติมเงินให้เพื่อน สำหรับฟังก์ชั่นนี้เป็นการเติมเงินโทรศัพท์ให้กัน แต่จะคิดค่าบริการตามจำนวนเงินที่คุณเติม ซึ่งไม่ได้รับความนิยมมากนักในกลุ่มผู้ใช้งาน เพราะมีค่าบริการเสริม


19) ฟังก์ชั่น 校园一卡通 เติมเงินเข้าบัตรนักเรียน สถานศึกษาในประเทศจีน ไม่ว่าจะระดับไหนปัจจุบันนี้ได้นำระบบดิจิตอลเข้าใช้อย่างแพร่หลาย โดยใช้บัตรนักเรียน นักศึกษา จะมีลักษณะเป็น Smart Card นอกจากจะมีการเก็บประวัติเรื่องการเรียนแล้วยังสามารถเติมเงินเพื่อใช้จ่ายภายในมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย ซึ่งฟังก์ชั่นนี้ของ Alipay เน้นกลุ่มลูกค้ากลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เป็นกลุ่มตลาดใหญ่ในปัจจุบัน เพิ่มความสะดวกสบายให้ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนเองในการเติมเงินโดยฟังก์ชั่นนี้ได้รับสนับสนุนจากสถานศึกษาเกือบทั้งหมดทั่วประเทศ


20) ฟังก์ชั่น 教育缴费จ่ายค่าเทอม เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีทางสถานศึกษาที่เราต้องการโดยตรง ซึ่งได้รับความนิยมและยอมรับเป็นอย่างดีในกลุ่มผู้ปกครอง นักเรียนนักศึกษา และสถานศึกษาเกือบทั่วทั้งประเทศ


21) ฟังก์ชั่น 城市一卡通บัตรเดินทางในเมือง ใช้แทนบัตรคมนาคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือฟังชั่นให้คุณใช้โทรศัพท์จ่ายการเดินทางได้ง่ายๆ เช่น รถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องเปิดระบบ NFC เสียก่อน


22) ฟังก์ชั่น 游戏充值 เติมเงินในเกมส์
คือฟังชั่นให้คุณเติมเงินในเกมส์ที่คุณเล่น



          นอกจากทั้ง 22 ฟังก์ชั่น ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมแล้ว ผู้ประกอบการยังใช้ประโยชน์จาก Alipay ในการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจได้เช่นกัน อาทิ การโอนเงินที่ลูกค้าจ่ายผ่านระบบออนไลน์เข้าสู่บัตร ATM ทันที หรือจะเลือกเก็บเงินลูกค้าไว้ระบบออนไลน์เพื่อใช้จ่ายต่อไปก็ได้ ปัจจุบันการให้บริการอออนไลน์นอกจากบริษัท Alibaba แล้ว ยังมี Tencents บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ชื่อดังผู้คิดค้นพัฒนา QQ และ Wechat ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคจีนไม่แพ้กัน 
          อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจไทยควรศึกษาระบบ Alipay เพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคจีนปัจจุบัน ในส่วนของศูนย์บีไอซีจะขอเกาะติดเทคโนโลยีและนำเสนอบทความดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจไทย โดยบทความครั้งหน้าผู้ประกอบธุรกิจการนำเข้า - ส่งออก ห้ามพลาด แต่จะเป็นสินค้าอะไรอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป !!!



ooooooooooooooooooooooooooooooooooooooooooooo